โกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560]

🔸 ผู้ใด

ผู้กระทำอาจเป็นลูกหนี้ที่กระทำความผิดต่อเจ้าหนี้ของตน หรือเป็นบุคคลอื่นที่กระทำต่อเจ้าหนี้ของผู้อื่นก็ได้
 

🔸 การกระทำ

“ย้ายไปเสีย” หมายถึง กระทำให้ทรัพย์เปลี่ยนไปจากที่อยู่เดิม
“ซ่อนเร้น” หมายถึง ปกปิดไม่ให้รู้ว่าทรัพย์อยู่ที่ใด
“โอนให้ผู้อื่น” หมายถึง โอนกรรมสิทธิ์
“แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี” หมายถึง แสดงให้บุคคลภายนอกเห็นว่าตนเป็นหนี้บุคคลอื่นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง เพื่อให้เจ้าหนี้ที่แท้จริงเข้าใจผิดว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินน้อย
 

🔸 ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

เจ้าหนี้ “ได้ใช้” สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว เช่น ได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาก็ตาม
เจ้าหนี้ “จะใช้สิทธิเรียกร้อง” ทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว คือ ยังไม่ได้มีการฟ้องคดี แต่กำลังจะฟ้องคดี เช่น รู้ว่าเจ้าหนี้กำลังจะฟ้องคดีตน, เจ้าหนี้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้
 

🔸 การร้องทุกข์ในคดีอาญา

โดยหลัก ไม่ถือว่าเจ้าหนี้กำลังจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล เว้นแต่การร้องทุกข์ในคดีที่อัยการมีอำนาจเรียกร้องเอาทรัพย์สินแทนผู้เสียหายได้ ตาม ป.วิ.อ. มมาตรา 43 ถือว่าเจ้าหนี้ “จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล” แล้ว (ฎีกาที่ 8905/2561)
เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
ประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวดที่ 4 บัญญัติถึงความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ไว้เพียงสองมาตรา คือ มาตรา 349 และมาตรา 350 ซึ่งมาตรา 349 เป็นบทบัญญัติที่ค่อนข้างบัญญัติไว้โดยเฉพาะ โดยเอาผิดกับผู้ที่เอาทรัพย์สินของตนไปจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำนั้นต้องระวางโทษ แต่อีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 350 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองเจ้าหนี้ทั่ว ๆ ไป แตกต่างกับมาตรา 349 โดยเอาผิดกับลูกหนี้หรือบุคคลอื่นซึ่งมีเจตนาให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นไม่ได้รับชำระหนี้ หากได้กระทำการตามที่มาตรา 350 บัญญัติไว้ ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นนั้นต้องระวางโทษ โดยในความผิดฐานนี้นั้น ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยเป็นหลักเกณฑ์และสามารถตั้งเป็นข้อสังเกตที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้
 
1 ) ความเป็นลูกหนี้ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้กระทำความผิด ดังนั้น ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 350 อาจจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลใดก็ได้ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้นั้น

ฎ.143/2517 คำว่า ‘ผู้อื่น’ ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น หมายความถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ผู้มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้อื่น ตามความหมายแห่งมาตรา 350 นั้นแล้ว
2 ) เจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
 
ฎ.1698/2535 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดในทางแพ่งเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา องค์ประกอบความผิดทางอาญาของมาตรานี้อยู่ที่ว่าผู้กระทำเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ก็เป็นความผิดแล้ว
 
3 ) คำว่าหนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะหนี้เงิน แต่รวมถึงหนี้อื่นด้วย
 
ฎ.755/2518 (ป) คำว่า ‘หนี้’ ที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มิได้หมายถึงเฉพาะหนี้เงินเท่านั้นแต่ยังรวมถึงหนี้อื่น ๆ ด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาขายที่ดินมีโฉนดให้แก่โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินนั้นและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือแต่การโอนโฉนด โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้แน่นอนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหนี้ที่จะต้องโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 กลับโอนขายที่ดินนั้นให้จำเลยที่ 3 ไปเสีย โดยจำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่า โจทก์กำลังจะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้มีทรัพย์สินมากพอที่จะชำระหนี้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ แม้หนี้สินอื่นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนมาก จำเลยก็ชำระให้โดยไม่บิดพลิ้ว การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์นั้น เป็นเพราะโจทก์กับจำเลยแปลความในสัญญากันคนละทาง มิใช่เพราะมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ และจำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อที่ดินนั้นไว้ ก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญาดุจกัน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2517 และครั้งที่ 2/2518)
 
4 ) หนี้นั้นต้องฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ แต่สิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จะหมดไปหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะไม่ใช่องค์ประกอบตามมาตรา 350
 
ฎ.1406/2512 ผู้เสียหายให้จำเลยกู้ยืมเงิน 10,000 บาท โดยจำเลยมิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้เป็นหนังสือให้ไว้นั้น เป็นการยืมเงินเกิน 50 บาท โดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ฉะนั้น ผู้เสียหายจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลกับจำเลยได้ตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
 
ฎ.6673/2537 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินเหลืออยู่ไม่พอที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน จึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็รู้อยู่แล้วเช่นเดียวกันว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 สิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จะหมดไปหรือไม่ ไม่ใช่องค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หากฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ก็เป็นการกระทำการดังที่กล่าวไว้ในมาตรานี้แล้ว จำเลยทั้งสี่จึงต้องมีความผิด
 
5 ) ผู้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ต้องรับผิดตามมาตรา 350 ต่อเมื่อรู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิทางศาลจึงจะต้องรับผิด
 
ฎ.563/2523 ลูกหนี้โอนที่ดินของตนให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเจ้าหนี้ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ส่วนผู้อื่นที่รับโอนทรัพย์นั้นจะมีความผิดตามมาตรา 350 ก็ต่อเมื่อรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้ว ถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 350
 
6 ) การร้องทุกข์ ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่ามิใช่การใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อชำระหนี้ แต่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่ปัจจุบันมีคำพิพากษาฎีกาประชุมใหญ่ที่ 8905/2561 (ป) วินิจฉัยว่า เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว นับว่าเป็นคำพิพากษาฎีกาที่กลับหลักคำพิพากษาฎีกาที่มีอยู่เดิม
 
ฎ.8905/2561 (ป) การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายติดต่อเราได้ที่
📞 โทร : 062-652-4259 (ทนาย ดร.นิ้ง)

📱 LINE ID : @disavorabuthlaw 

📩 สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้จาก
แสดงความคิดเห็น
เกี่ยวกับเรา

ด้วยประสบการณ์ด้านกฎหมายที่สั่งสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เราคือผู้เชี่ยวชาญที่คุณวางใจได้ในทุกปัญหาทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ครอบคลุมสัญญาต่างๆ การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี หรือกฎหมายแรงงาน ที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณหลีกเลี่ยงข้อพิพาท นอกจากนี้ เรายังเชี่ยวชาญใน กฎหมายครอบครัว กฎหมายมรดก กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังให้บริการให้คำปรึกษากฎหมายและบริการจดทะเบียนที่ครอบคลุมครบวงจรทั้งในกรุงเทพฯ และนครราชสีมา

ที่อยู่

247/68 หมู่บ้านสัมมากร ซอย25/8 รามคำแหง112 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร 10240

เบอร์โทรศัพท์

062-652-4259

E-mail

disavorabuth@gmail.com

เกี่ยวกับเรา

ด้วยประสบการณ์ด้านกฎหมายที่สั่งสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เราคือผู้เชี่ยวชาญที่คุณวางใจได้ในทุกปัญหาทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ครอบคลุมสัญญาต่างๆ การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี หรือกฎหมายแรงงาน ที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณหลีกเลี่ยงข้อพิพาท นอกจากนี้ เรายังเชี่ยวชาญใน กฎหมายครอบครัว กฎหมายมรดก กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังให้บริการให้คำปรึกษากฎหมายและบริการจดทะเบียนที่ครอบคลุมครบวงจรทั้งในกรุงเทพฯ และนครราชสีมา

ที่อยู่

247/68 หมู่บ้านสัมมากร ซอย25/8 รามคำแหง112 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร 10240

เบอร์โทรศัพท์

062-652-4259

E-mail

disavorabuth@gmail.com

©2025 Dr.Disavorabuth Law Office. All Rights Reserved.
โกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350